<<>> ผลงานภาพรวม “ทัพมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย” คว้ามาได้เพียงแค่ 1 เหรียญทองแดงจากการเข้าแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ 2 ครั้งหลังสุด ถ้ามองกันที่ตัวเลขก็ต้องยอมรับว่า ต่ำกว่าเป้าหมาย และมาตรฐานที่เคยทำได้
แต่สิ่งหนึ่งที่พอเข้าใจได้ และเชื่อว่าแฟนหมัดมวยเห็นตรงกัน ก็คือ ระบบวิธีการให้คะแนน 2 ครั้งล่าสุด กับ โอลิมปิก เกมส์ ครั้งก่อน ๆ แตกต่างกันออกไปสิ้นเชิง และไม่ค่อยเอื้อกับนักมวยชาวทไยนัก
 
 
 
 
 
 
สมัยก่อนเราเห็นกันชัดเจนว่า มวยสากลสมัครเล่น ให้คะแนนตามหมัดที่เข้าป้าย ใช้สายตากรรมการกดแต้ม ซึ่งยุคทองที่ ทีมชาติไทยได้เหรียญทองติดต่อกัน 4 สมัย ไล่จาก สมรักษ์, วิจารณ์, มนัส และสมจิตร ล้วนเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ มวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิก มีระบบวิธีการให้คะแนนแบบกดแต้ม
แต่พอเข้าสู่โอลิมปิก 2012 นี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องที่สุดแสนวุ่นวาย เมื่อ สมาพันธ์มวยนานาชาติ (ไอบ้า) AIBA ที่รับหน้าที่จัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น เปลี่ยนวิธีการนับคะแนน จากที่เคยขึ้นโชว์แต้ม เปลี่ยนมาเป็นไม่โชว์คะแนน โดยนักมวยจะรู้คะแนนก็ต่อเมื่อหลังหมดยกแล้วเท่านั้นว่าตามอยู่กี่หมัด
 
 
หากจำกันได้ดีที่สุด กรณีที่อื้อฉาวสุด ๆ คือ แก้ว พงษ์ประยูร เจอกับ ซู ชิ หมิง นักมวยชาวจีน ซึ่งกำปั้นชาวไทยต่อยได้ดีกว่าชัดเจน ขาดลอยสุด ๆ แต่คะแนนกลับตามหลังทุกยก โดยเฉพาะยกสุดท้ายที่ แก้ว พงษ์ประยูร ยำใหญ่ไส่นักมวยชาวจีนข้างเดียว สรุปคะแนนสามยก แก้ว แพ้ ซู ชิ หมิง ชนิดที่ค้านสายตาคนทั้งโลก
หลังจบโอลิมปิกครั้งนั้น “ไอบ้า” ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องวิธีการให้คะแนนตัดสินหาผู้ชนะ
 
 
จึงทำให้ในโอลิมปิก 2016 ที่บราซิล “ไอบ้า” นำระบบวิธีการให้คะแนนแบบมวยสากลอาชีพ คือ ให้คะแนนเป็นยก ผู้ชนะในยกนั้นจะได้ 10 แต้ม ส่วนผู้แพ้จะได้ 9 หรือ 8 ลดหลั่นไปตามความเหมาะสม หรือถูกนับหรือเปล่า คะแนนจะขึ้นโชว์หลังหมดยก
โดยกรรมการจะพิจารณาจากองค์ประกอบภาพรวม ไม่ได้แค่หมัดเข้าเป้าอย่างเดียว แต่จะมีการพิจารณาจากทรงมวย อาการมวย ภาพรวมว่าใครทำได้ดีกว่ากันเข้ามาประกอบด้วย ซึ่งรูปแบบการให้คะแนนแบนี้ ถือว่าค่อนข้างเหมาะสมและเข้ากับยุคสมัย
 
 
 
 
ข้อดีที่ชัดสุด คือ นักมวยสากลสมัครเล่น เมื่อเลิกต่อยโอลิมปิกแล้ว ก็สามารถต่อเอาทักษะไปเทิร์นโปร์ชกอาชีพได้อีกทาง
แต่ในการแข่งขัน ริโอ เกมส์ 2016 ที่มีการนำวิธีการตัดสินแบบนี้มาใช้… ปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น เนื่องจาก ไอบ้า ยังทำหน้าที่เป็นคนเลือกกรรมการเอง และดูแลการแข่งขันเหมือนเดิม ซึ่งดราม่าก็ยังเกิดขึ้นตลอด มีการตัดสินที่ไม่ค่อยเป็นธรรม พบกรรมการที่ให้คะแนนไม่โปร่งใส ถูกส่งตัวกลับระหว่างแข่งหลายราย
 
 
เนื่องจากใช้กรรมการให้คะแนน 3 คน จึงง่ายต่อการทุจริต สุดท้าย ไอบ้า ถูก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) สั่งถอนสิทธิ์ในการดูแลจัดมวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิก เกมส์ เพราะต้องการให้ ไอบ้า ไปจัดการปัญหาภายในองค์กรก่อน และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ไอโอซี จึงเป็นองค์กรที่เข้ามาดูแลควบคุมการแข่งขัน มวยสากลสมัครเล่น โตเกียว เกมส์ 2020 โดยทำหน้าที่เป็นผู้เลือกกรรมการเอง และเพิ่มกรรมการให้คะแนนจาก 3 คนเป็น 5 คน จาก 5 ภูมิภาคที่แตกต่างกัน เพื่อพยายามขจัดปัญหาการตัดสินค้านสายตาให้ได้มากที่สุด
 
 
 
 
 
ช่วงรอบแรก รอบสอง โอลิมปิก 2020 ปัญหาเรื่องการตัดสินค้านสายตายังไม่ค่อยเกิดนัก จนกระทั่งเข้าสู่รอบ 8 คนสุดท้ายจนถึงรอบชิง เริ่มมีเสียงวิจารณ์ถึงการตัดสินที่ยังไม่เคลียร์ชัด โดยเฉพาะคู่ที่เบียดสูสีกัน แต่ก็น่าสงสัยว่าทำไมกรรมการ 2 คนถึงให้คะแนนสวนทางกันชัดเจน
อย่างคู่ ฉัตร์ชัยเดชา กับ อัลวาเรซ กรรมการท่านให้คะแนน 3 ยก ฉัตร์ชัยเดชา ชนะ 30-27 คะแนน ส่วนอีกคนให้ ฉัตร์ชัยเดชา แพ้ทั้ง 3 ยก ด้วยคะแนน 30-27 คะแนน หรือบางคู่ที่ดูเหมือนกรรมการจะเทใจเอนเอียงไปทางเจ้าภาพมากกว่า
 
 
นอกนั้นก็ต้องยอมรับว่าภาพรวม ไอโอซี จัดมวยสากลสมัครเล่นได้ดีกว่า โอลิมปิก เกมส์ 2-3 ครั้งที่ ไอบ้า เป็นผู้จัดการแข่งขันและเต็มไปด้วยดราม่ามากมาย
ก็ถือเป็นสิ่งที่ ไอบ้า และ ไอโอซี “ต้องเรียนรู้และนำไปปรับแก้ไข พัฒนาให้ดีกว่าเดิม” เพราะมวยเป็นกีฬาที่คนให้ความนิยม และถือเป็นของดีประจำโอลิมปิก
 
 
แต่หากปัญหาเรื่องการตัดสินที่เป็นมะเร็งร้าย ไม่ถูกแก้ไข หรือ วิธีการให้คะแนนไม่เคลียร์ ไม่ชัดเจน ในอนาคต ความนิยมในหมู่ผู้ชมรุ่นใหม่ก็อาจลดน้อยถอยลงไปจากนี้ กลายเป็นจัดมวยแล้วเสียของ อย่างนี้ก็ไม่ส่งผลดีกับใครเลยทั้งนั้น
 
 
 
@ News  Photo Credit :: มวยเด็ด789
 
 
 
@ *คลิก* ติดตามต่อกับพันธมิตรข่าว เว็บboxingboy2021.blogspot.comด้เลยครับ.

เชิญแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ

comments