-@@- เป็นที่ฮือฮาและจับตามองไม่น้อย เมื่อยักษ์ใหญ่ในวงการซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ เปิดตัวระบบปฏิบัติการตัวใหม่อย่าง วินโดวส์ 10 ออกมาพร้อมกับสาธิตอะไรใหม่ๆ หลายๆ อย่างออกมาให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่เคยครองแชมป์ระบบปฏิบัติการบนพีซีมาเป็นเวลานาน
เมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของโมบายล์ สถานะของวินโดวส์ลดวูบลงไปชนิดชวนใจหาย นับตั้งแต่วินโดวส์ 8 ปรากฏออกมาแล้วสร้างความผิดหวังอย่างจังให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เดเวลลอปเปอร์ไปจนถึงยูสเซอร์ ที่มึนๆ งงๆ กับทิศทางของมันแล้วก็พาลเมินไปเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัววินโดวส์ 8 บนพีซีหรือวินโดวส์ 8.1 บนโมบายล์ดีไวซ์ทั้งหลาย
“วินโดวส์ 10” กลับเป็นการ “คิดใหม่ทำใหม่” อย่างแท้จริงของไมโครซอฟท์ เพื่อหวังแทรกตัวเป็นระบบปฏิบัติการของยุคปัจจุบันให้ได้
ด้วยการเป็นโอเอสเดียวสำหรับทุกอุปกรณ์สามารถใช้งานตั้งแต่พีซี แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน คาบเกี่ยวเชื่อมโยงไปถึงเครื่องเล่นเกมคอนโซลกันเลยทีเดียว
สัมผัสแรกถึงความใหม่ก็คือ ส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้กับฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหลาย ที่เรียกกันว่า ยูสเซอร์ อินเตอร์เฟซ ที่ทำกันใหม่หมดและเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะของอุปกรณ์เพื่อความเหมาะสม ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับระบบปฏิบัติการจากแต่ละอุปกรณ์เป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เช่น บนสมาร์ทโฟน ก็จะมีทุกอย่างที่เราคาดหวังว่าควรจะมี ตั้งแต่โฮมสกรีน เมนูสำหรับการเซตค่าต่างๆ สมุดโทรศัพท์ เว็บบราวเซอร์ ฯลฯ
สำหรับบราวเซอร์ ไมโครซอฟท์โละ “ไออี” ที่คุ้นเคยกันมาทิ้งไปโดยสิ้นเชิง หันมาพัฒนาบราวเซอร์ใหม่ ใช้ชื่อรหัสว่า “โปรเจ็กต์สปาตัน” เป็นครั้งแรกในรอบเกือบๆ 2 ทศวรรษ เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ในบราวเซอร์มากมาย ตั้งแต่ทำให้ผู้ใช้สามารถเปิดจดโน้ตโดยตรงบนเว็บเพจ (ที่รองรับการใช้งานทั้งคีย์บอร์ดและปากกา), การแชร์ไฟล์ และรูปแบบการจัดวางใหม่ๆ ที่อ่านง่าย สะดวกขึ้น และลดการรบกวนจากข้างเคียงได้มากขึ้น ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ บนวินโดวส์ 10 กลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้ในทุกอุปกรณ์ด้วยฟังก์ชั่นที่คุ้นเคย
และที่ไมโครซอฟท์ไม่ลืมติดมาด้วยก็คือคอร์ทานา ผู้ช่วยเสมือนที่เคยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีบนวินโดวส์โฟน กลายเป็นฟีเจอร์หลักของโอเอสใหม่นี้ไปเลยทีเดียว
ประเด็นน่าสนใจก็คือ ความยืดหยุ่นของวินโดวส์ 10 ที่ปรับการทำงานสลับกลับไปกลับมาในอุปกรณ์ “ทูอินวัน” ได้ดี ในขณะที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ได้ราบรื่น และทำให้การเชื่อมโยงต่อเนื่องระหว่างพีซี แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน เรื่อยไปจนถึงเครื่องเล่นเกมทำได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
ตัวอย่างเช่น กรณีของอัลบั้มภาพถ่ายที่สามารถเห็นได้พร้อมกันจากหลายๆ ดีไวซ์ ผ่านแอพพลิเคชั่น
ภาพถ่ายของวินโดวส์ 10 ในทำนองเดียวกันกับที่เราคุ้นเคยกับการใช้งานกูเกิลพลัสก่อนหน้านี้ ด้วยเทคโนโลยีซิงโครไนซ์ใหม่ ที่ขาดไม่ได้ก็คือเรื่องการส่งข้อความสั้น ที่ผสมผสานทั้งเอสเอ็มเอสและไอเอ็ม (อินสแตนท์ เมสเสจจิ้ง) ผนวกกับความสามารถของสไกป์ที่นำการสื่อสารแบบวิดีโอเข้ามารวมอยู่ด้วย
ด้วยหลายๆ อย่างเหล่านี้ ทำให้วินโดวส์ 10 ดูเหมือนจะเป็นโอเอสใหม่ที่พร้อมรองรับอุปกรณ์ทุกรูปแบบแถมครบเครื่องอย่างน่าสนใจ คำถามที่ต้องรอดูคำตอบก็คือ โอกาสที่จะแทรกตัวเข้ามาเบียดแย่งตลาดที่แทบเป็นการผูกขาดของแอนดรอยด์กับไอโอเอสในเวลานี้ได้หรือไม่
โอกาสที่วินโดวส์10 จะกลายเป็นเครื่องคุกคามต่อไอโอเอสดูเหมือนจะมีน้อยกว่าการคุกคามต่อแอนดรอยด์ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แอนดรอยด์มีคู่ต่อกร ครั้งหนึ่งซัมซุงเคยพยายามผลักดันไทเซน ที่แทบจะถอดแบบแอนดรอยด์ออกมา แต่ก็ยังไม่ประสบผลจนแล้วจนรอด
กระนั้น วินโดวส์ 10 ก็มีจุดแข็งที่สำคัญอยู่ นั่นคือการทำหน้าที่เป็นตัวประสานระหว่างอุปกรณ์ด้วยกันที่เยี่ยมยอด ถือว่าเป็นจุดขายที่สำคัญและไมโครซอฟท์ก็ตระหนักดี ด้วยการเปิดฉากให้ “อัพเกรด” วินโดวส์ทั้งหลายสู่วินโดวส์ 10 ได้ฟรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้
แต่ยังไม่แน่นักว่าจะฟรีสำหรับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และเดเวลลอปเปอร์อื่นๆ ด้วยหรือไม่
ถึงอย่างนั้นก็ถือเป็นการลั่นกลองรบที่น่าสนใจติดตามเลยทีเดียวครับ
ขอบคุณ แหล่งที่มาหนังสือพิมพ์