<<>> ถ้าพูดถึงนักมวยยุค 80 ยังไงก็ต้องมีชื่อของมวยจากแดนโสมติดอยู่ในลิสต์อย่างแน่นอน ทว่าอยู่ๆกำปั้นชาวเกาหลีก็ค่อยๆหายหน้าหายตาไปจากหน้าจอ จนปัจจุบันแฟนมวยรุ่นใหม่แทบจะจำไม่ได้แล้วว่าเกาหลีเคยยิ่งใหญ่แค่ไหนในวงการมวย.. ในอดีตเชื่อว่าคนยุด 80 ก็ต้องเคยชมการชกของกำปั้นจากแดนโสม เพราะแชมป์โลกขวัญใจชาวไทยอย่าง เขาทราย แกแล็คซี่ มักจะได้ขึ้นเวทีป้องกันตำแหน่งกับนักมวยจากเกาหลีใต้อยู่หลายครั้ง ซึ่งทาง “พี่ระ” เจอกับนักมวยจากแดนโสมถึง 13 คน ตลอดการค้ากำปั้นของเขา 

 

 

 

หากย้อนกลับไปในช่วงปี 1970, 1980 หรือช่วงต้น 1990 บอกได้เลยว่าเป็นยุคทองและเฟื่องฟูสุดๆของวงการมวยเกาหลีใต้ หากจะให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นคงเหมือน วงไอดอล, บอยแบนด์ และ เกิร์ลกรุ๊ป จากแดนโสมที่ปัจจุบันที่ได้รับความนิยมสูงมากจากเพลงแฟนทั่วโลก 

    วงการมวยเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมากมายทั้งในรูปแบบมวยสากลสมัครเล่นหรือแม้แต่มวยสากลอาชีพ ซึ่งขุนพลเสื้อกล้ามจากแดนโสมเคยคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาแล้ว จากผลงานของ คิม กวัง-ซุน ในรุ่น ฟลายเวท ปี 1988 และ ชิน จุน-ซุป รุ่น มิดเดิลเวท ปี 1984 นอกเหนือจากนี้ยังมีนักมวยจากเกาหลีอีกหลายคนที่คว้าเหรียญจากมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาครองได้  

 

  ในขณะที่มวยสมัครเล่นประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ด้านมวยอาชีพเองก็ค่อยๆเติบโตและแข็งแรงไปพร้อมกันๆ โดยมานักมวยฝีมือดีอย่าง ชาง ชุง-กู, มูน ซัง กิล, ยู เมียง-วู,แบค อิน-ชุล และ ปาร์ค ยอง คยูน    

    ทว่าหลังผ่านช่วงต้นยุค 90 มามวยจากเกาหลีกลับค่อยๆหายไป ปัจจุบันแดนโสมไม่มีแชมป์โลกของผู้ชายหลงเหลืออยู่เลย ทั้งที่ก่อนหน้าเกาหลีถือว่าเป็นหมาอำนาจในวงการมวยของเอเชียเทียบเท่า ไทย, ญี่ปุ่น และ ฟิลิปปินส์ คำถามใหญ่ก็คือ “เกิดอะไรขึ้นกับมวยเกาหลีใต้? มวยสมัครเล่นไม่ประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก! มวยอาชีพที่ควรค่าแก่การจดจำล้วนแต่สูญพันธุ์ไปจากแดนโสม! การชกที่ไม่สามารถดึงดูดเหล่าแฟนๆให้เข้ามาชมได้! 

    

 ชาวเกาหลีมีความหวังอีกครั้งจาก คิม จิ-ฮุน หลังได้โอกาสขึ้นชิงแชมป์โลกของ สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) ที่ว่างอยู่ รุ่น ไลท์เวท กับ มิเกล วาซเกวซ นักชกชาวเม็กซิกัน แต่ก็ล้มเหลวไม่สามารถก้าวขึ้นเป็นแชมป์โลกได้ แถมยังพ่ายแต้มมวยจังโก้ขาดลอยแบบชนิดไร้ทางต่อต้าน 

 

    แม้ว่า คิม จิ-ฮุน จะทำให้แฟนๆชวนนึกถึงนักมวยจากเกาหลีครั้นในอดีตด้วยสไตล์การชกของเขา ที่เดินบู๊เดินแลกแบบไม่ต้องสนการ์ดโดยอาศัยความแข็งแกร่งของร่างกายและหัวใจที่เกินร้อย แต่มันไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุดได้ ซึ่งมันเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าสไตล์แบบนี้มันไม่เพียงพอที่จะทำให้ถึงดวงดาวได้ หรือให้เรียกแบบเข้าใจง่ายๆคือมันตกยุคไปแล้ว หากเทียบกับรูปแบบการชกที่ค่อยข้างหลากหลายในยุคสองพัน  

 

  

     และสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้วงการมวยของเกาหลีค่อยๆร่วงลงไป อาจจะมาจากเศรฐกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งใน ด้านเทคโนโลยี การท่องเที่ยว และด้านความบันเทิง ที่ล้วนแต่สร้างรายได้ให้แก่เกาหลีใต้เป็นเม็ดเงินอย่างมหาศาล ทว่าสวนทางกับวงการมวยตกต่ำลง หลังจากคนรุ่นใหม่เลือกที่จะทำงานประจำ การเป็นไอดอล ดารา นักร้อง หรือสายงานที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่างๆ และงานบริการ ที่ให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีแถมไม่เจ็บตัว ซึ่งนี้อาจจะเป็นปัจจัยเล็กๆที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการมวยในเกาหลี  

 

    อย่างไรก็ตามต้องยอมรับแบบไม่โลกสวยว่า นักมวยจำนวนไม่น้อยเริ่มต้นอาชีพนี้ด้วยฐานะไม่ค่อยดีนัก โดยมีความจนเป็นแรงพลักดันและใช้ความอดทน เพียรพยายาม เพื่อตะกุยทางไปสู่ความสำเร็จ 
    
    หากเราลองคิดในอีกมุมนึงทำไมคุณถึงอยากโดนชกหน้าทั้งที่อาจจะได้เงินน้อยกว่าที่คุณจะได้จากการทำงานปกติ? มันจึงส่งผลโดยตรงต่อวงการมวยในเกาหลี และแน่นอนว่าในเมื่อคนรุ่นใหม่อยากชกมวยน้อยลง นักมวยที่ถูกป้อนเข้าสู่ระบบก็ลดถอยน้อยลงไป แถมนักมวยที่เหลืออยู่ยังไม่ใช่พวกที่มีพรสวรรค์เหมือนดั่งในอดีตมันจึงกลายเป็นวัฏจักรที่เลวร้ายทั้งทางด้านจำนวนและคุณภาพอีกด้วย

    และอีกข้อสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างมันถึงทางตันอาจเกิดจากโศกนาฏกรรมเมื่อปี 1982 ที่วงการมวยเกาหลีต้องสูญเสียนักชกอย่าง คิม ดุก-กู จากการขึ้นชิงตำแหน่งแชมป์โลกของ สมาคมมวยโลก (WBA) รุ่น ไลท์เวท กับ เรย์ มันซินี่ โดยเหตุการณ์ในวันนั้น คิม โดนต่อยร่วงและแพ้น็อกไปในยกที่ 14 จากนั้นไม่กี่นาทีที่การแข่งขันจบลง ผู้ท้าชิงชาวเกาเหลีก็ผู้หามส่งโรงพยาบาลซึ่งอาการในตอนนั้นถือว่าเข้าขั้นโคม่า ในเวลาต่อมาเขาถูกตรวจพบว่ามีเลือดคั่งในสมองและต้องทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แม้ว่าแพทย์จะพยายามยื้อชีวิตของเขาอย่างเต็มที่ ทว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถรักษาชีวิตเขาไว้ได้ คิม ดุก-กู เสียชีวิต 5 วันหลังจากการแข่งขันในวันนั้น

 

    ซึ่งนั้นไม่ใช่โศกนาฏกรรมเดียวที่เกิดขึ้นกับนักมวยเกาหลี ในปี 2007 เหตุการไม่คาดคิดเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่ ชอย โย-ซัม แชมป์ อินเทอร์คอนทิเนนทัล ขององค์กรมวยโลก (WBO) รุ่น ฟรายเวท โดนหมัดขวาของผู้ท้าชิงชาวอินโดเนเซียอย่างเฮรี่ อาโมล ร่วงในช่วง 5 วินาทีสุดท้ายของยกที่ 12 ก่อนจะลุกขึ้นมาได้ ทว่าเมื่อเสียงระฆังดังขึ้นเขาทรุดและค่อยๆหมดสติลงไป จากนั้นแชมป์จากแดนโสมก็ถูกนำส่งโรงพยาบาลทันทีหลังการต่อสู่จบลงไปเพื่อผ่าดัตสมองอย่างเร่งด่วน ในเวลาต่อมาแพทย์ได้เผยว่า ชอย โย-ซัม มีอาการสมองตาย และหลังจากนั้น 10 วัน เขาก็ได้เสียชีวิตลง 

 

 

   จากนั้นปี 2010 ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอีกครั้ง หลังจากที่ แบ กิ-ซุก ขึ้นชิงตำแหน่งซูเปอร์ฟลายเวทของเกาหลีใต้ โดยเขาเข้ารับการผ่าตัดสมองยาวนานถึง 5 ชั่วโมง หลังจากที่เขาแพ้ทีเคโอในยกที่ 8 เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นอาการของเขาก็ดีขึ้นก่อนจะทรุดหนักอีกครั้งและเสียชีวิตไป หลังจากการแข่งขันแค่เพียง 4 วัน  

    การเสียชีวิตของ แบ กิ-ซุก ทำให้คณะกรรมการการชกมวยของเกาหลี (KBC) โดนสอบถึงการปฏิบัติหน้าที่ โดยหลายคนชี้ว่า (KBC) ต้องรับผิดชอบต่อการตายของเขา หลังจากการสูญเสียของ  แบ กิ-ซุก การแข่งขันภายในเกาหลีก็เริ่มลดน้อยลงไป พ่อแม่ชาวเกาหลีต่างผวาและกลัวว่าลูกของตนต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันพร้อมเรียกร้องให้เลิกแข่งขันกีฬานี้

 

    ด้วยการสูญเสียที่สร้างบาดแผลภายในใจและเศรษฐกิจที่พุ่งทยานที่ทำให้การชกมวยเป็นอาชีพที่ไม่น่าสนใจมากนัก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่การชกมวยในเกาหลีจะลบเลือนไป ได้แต่หวังว่าสักวันจะมีนักมวยสักคนที่สามารถเรียกศรัทธาและปลุกกระแสให้ชาวเกาหลีกลับมาคลั่งใคล่มวยอีกครั้ง

 

  

อย่างไรก็ตามเกาหลีใต้ยังมีคนครองตำแหน่งแชมป์โลกอยู่ ทว่าเป็นของฟากฝั่งผู้หญิงโดยเจ้าของเข็มขัดคือ ชอย ฮยอน-มี แชมป์ของสมาคมมวยโลก (WBA) รุ่น ซูเปอร์เฟเธอร์เวท ด้วยผลงานไร้พ่ายชก 17 ครั้ง ชนะ 16 เสมอ 1 ปัจจุบันเธอได้เซ็นสัญญาเป็นมวยในสังกัดดังอย่าง แมตช์รูม บ็อกซิง ของ เอ็ดดี้ เฮิร์น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย ชอย ฮยอน-มี เกิดที่ประเทศเกาหลีเหนือก่อนจะย้ายมาอยู่เกาหลีใต้และประสบความสําเร็จที่นั้น สุดท้ายนี้ก็ได้แต่หวังว่าเธอผู้นี้จะทำให้ความนิยมของมวยในแดนโสมกลับมาบ้างแม้เล็กน้อยก็ยังดี

 

 

@ news image credit :: siamsport/storylog.co

 

@ *คลิก* ติดตามต่อกับพันธมิตรข่าว เว็บboxingboy2021.blogspot.com ได้เลยครับ..

เชิญแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ

comments