<<>> 20 กรกฎาคม 2564 โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) เป็นประธานในการประชุมสมัชชาใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 138 ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมโอกุระ กรุงโตเกียว โดยงานนี้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์หญิงไทย ซึ่งเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมๆ กับคณะกรรมการบริหารคนอื่นๆ ด้วย
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ กล่าวว่า สำหรับวาระสำคัญของงานประชุมสมัชชาใหญ่ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 138 อยู่ที่การโหวตลงมติอย่างเป็นทางการให้ สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (อิฟม่า) ได้รับรองอย่างเป็นทางการ ให้เป็นสหพันธ์กีฬานานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก็ถือเป็นการปูทางไปสู่การบรรจุแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในอนาคตข้างหน้า ร่วมกับสหพันธ์เชียร์นานาชาติ, สหพันธ์แซมโบ้นานาชาติ, สหพันธ์ไอซ์สต็อคสปอร์ต, สมาคมองค์กรบ็อกซิ่งโลก และ เวิลด์ ลาครอส
สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ หรือ “อิฟม่า” ก่อตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ก้าวไกลของสุภาพบุรุษกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีกลุ่มสุภาพสตรีเข้าร่วมด้วย โดยมีเป้าหมายรวมมวยไทย ที่มีอยู่ทั่วโลกนั้นให้มาอยู่ภายใต้กฏกติกาอันเดียวกัน โดยปี 2549 มวยไทยกลายเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ หลังได้รับการเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น โดยขยับอยู่ในฐานะเดียวเทียบเท่ากับฟีฟ่า (FIFA) ของวงการฟุตบอล, ฟีบ้า (FIBA) ของบาสเกตบอล และ ฟีน่า (FINA) ของกีฬาว่ายน้ำ โดยการรับรองจากสมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ (General Association of International Sports Federations : GAISF) ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “มวยไทย” และอยู่ภายใต้การดูแลของ “อิฟม่า”
ในปี 2555 อิฟม่า ประกาศตัวให้สังคมโลกและโอลิมปิกได้รับทราบถึงความตั้งใจ ก่อนจะยื่นขอการรับรองชั่วคราวจากไอโอซี และได้รับการรับรองในปี 2559 หลังผ่านเกณฑ์สำคัญทั้งหมด 54 ข้อใน 8 หมวด ก่อนที่ล่าสุดจะได้รับการรับรองอย่างเต็มรูปแบบในที่ประชุมสมัชชาใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ 138 ซึ่งถือเป็นการปูทางไปสู่การผลักดันให้กีฬามวยไทยให้ยิ่งเป็นที่รู้จัก ให้บรรจุเป้าหมายมีจัดชิงชัยในโอลิมปิกเกมส์
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมอำนวยการขับเคลื่อนกีฬามวยไทยสู่โอลิมปิกและคณะอนุกรรมการดำเนินการการขับเคลื่อนกีฬามวยไทยสู่โอลิมปิก เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไอโอซีได้รับรองมวยไทยและอิฟม่าให้เข้าเป็นสมาชิกถาวร ตน ในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการ คณะรัฐบาล และประชาชนชาวไทย รู้สึกภาคภูมิใจ และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
“ผมต้องขอขอบคุณท่านประธานไอโอซี โธมัส บาค รวมถึงคณะกรรมการทุกท่าน ที่ได้ให้การยอมรับกีฬามวยไทยในครั้งนี้ ผมอยากจะขอชื่นชมอิฟม่า และสมาชิกทั้ง 146 ประเทศ ที่ได้ร่วมมือกัน ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ของโอลิมปิก จนได้รับความไว้วางใจอย่างดีจากไอโอซี ผมขอยืนยันว่า รัฐบาลไทยจะส่งเสริมมวยไทย และสนับสนุนการดำเนินงานของอิฟม่า อย่างเต็มที่ เพราะพวกเรามีเป้าหมายร่วมกัน คือ การผลักดันให้กีฬามวยไทยได้บรรจุเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ภายในอนาคตอันใกล้” พล.อ.ประวิตร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานอิฟม่า เปิดเผยว่า ตนต้องขอขอบคุณ สำนักงานระหว่างประเทศของอิฟม่า เป็นพิเศษ ซึ่งนำโดยผู้อำนวยการ ชาริสซ่า ไทนัน ที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ได้จริงและมีการจัดทำเอกสารในแอพพลิเคชั่นที่มีความหนากว่า 1,000 หน้า เพื่อแสดงให้ไอโอซีได้เห็นถึงความสอดคล้องของเรากับวาระโอลิมปิก 2020+5
ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รองประธานอิฟม่า เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการบริหารอิฟม่า ที่ทำงานอย่างหนัก และคณะกรรมการจัดการพิเศษที่ช่วยกันเสนอแนวคิดและทบทวนกระบวนการในการสมัครเพื่อให้ได้รับการรับรอง รวมถึงให้การสนับสนุนเพื่อรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ในการสมัคร ทั้งนี้ ผู้มีส่วนร่วมกับอิฟม่าทุกฝ่ายและนักกีฬาจากประเทศสมาชิกจำนวน 146 ประเทศ ที่ได้แสดงความขอบคุณอย่างจริงใจต่อไอโอซี ซึ่งนำโดย โธมัส บาค ประธานไอโอซี ที่ให้ความเชื่อมั่นในอิฟม่า และขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ของไอโอซีที่ให้ความร่วมมือและคำแนะนำตลอดระยะเวลาที่ทำการยื่นขอคำรับรอง
รองประธานอิฟม่า ยังกล่าวขอบคุณประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการมวยไทย, สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการของอิฟม่าในฐานะประธานของ AIMS (Alliance of Independent Recognised Members of Sport) โดยที่ผ่านมาถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากในการช่วยผลักดันให้กีฬาที่อยู่ภายใต้การดูแลของ AIMS ให้ได้การรับรองมากเป็นสถิติถึง 6 ประเภท ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดที่ได้รับการรับรองในการประชุมคราวเดียวกันของคณะกรรมการบริหารไอโอซี