@ ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 – 16 พฤศจิกายน 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนังภาพจากเฟซบุ๊ก Ismael Antonio Salas |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
“อิสมาเอล ซาลาส” ถือเป็นหนึ่งในยอดเทรนเนอร์ของวงการมวยสากลอาชีพระดับโลกยุคปัจจุบัน เริ่มต้นจากการทำงานในแวดวงมวยสากลสมัครเล่นที่ประเทศคิวบาบ้านเกิด ซาลาสขยับขยายมาเป็นเทรนเนอร์มวยอาชีพ จากทวีปเอเชียถึงสหรัฐอเมริกา
ยอดโค้ชชาวคิวบาวัย 60 ปี เคยมีประสบการณ์เทรนแชมเปี้ยนโลกมาแล้ว 19 ราย รวมทั้งยอดมวยเบอร์ต้นๆ ในยุคนี้อย่าง “กีเยร์โม ริกอนโดซ์” ที่เคยมาฟิตซ้อมฝึกฝนกับซาลาสอยู่ระยะหนึ่ง
หรือ “ฮอร์เก้ ลิเนเรส” ยอดมวยในรุ่นไลต์เวต ณ ค.ศ.2017 ชาวเวเนซุเอลา ก็ถือเป็นศิษย์รุ่นล่าสุดของเขา
ปัจจุบันซาลาสมียิมของตัวเองอยู่ที่ลาสเวกัส เขาใช้ชีวิตกับภรรยาชาวญี่ปุ่น ซึ่งพบรักกัน ขณะเทรนเนอร์ชาวคิวบาเดินทางไปทำงานที่นั่น พร้อมด้วยลูกชายหนึ่งคน
อย่างไรก็ตาม หลายคน (ที่เป็นแฟนมวย) คงจำกันได้ดีว่า ก่อนหน้านี้ซาลาสเคยทำงานที่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน และมีส่วนสร้างสรรค์ปั้นแต่งแชมป์โลกหลายคน ในสังกัดค่าย “ส.เพลินจิต” และ “ทรงชัย บ๊อกซิ่ง โปรโมชั่น”
ภาพจากเฟซบุ๊ก Ismael Antonio Salas
รวมถึงการมีครอบครัวและลูกๆ อยู่ที่ประเทศไทย โดย “ญีน่า ซาลาส” ลูกสาวของเขา ก็เคยเป็นนางเอกละครโทรทัศน์เรื่อง “รัตนาวดี” ทางช่องพีพีทีวีมาแล้ว ก่อนจะย้ายไปเซ็นสัญญาเป็นดาราสังกัดช่อง 3
อิสมาเอล ซาลาส เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ “แอนสัน เวนไรต์” แห่ง “เดอะริง” เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
มีสองจุดใหญ่ๆ ในบทสัมภาษณ์ที่เขากล่าวอ้างอิงถึงเมืองไทย
จุดแรก ซาลาสย้อนเล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นโค้ชมวยสากลสมัครเล่นของตนเอง ที่เริ่มต้นจากบ้านเกิด ก่อนจะโยกย้ายมายังทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นกับทีมชาติปากีสถาน ตามคำเชิญของ “อันวาร์ ชอว์ดรี้” อดีตประธานสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติชาวปากีสถาน แล้วมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายลำดับถัดมา
ที่เมืองไทย ซาลาสเปลี่ยนแปลงบทบาทมาเป็นเทรนเนอร์มวยอาชีพ เขาบอกกับเดอะริงว่าตนเองมีลูกศิษย์ชาวไทยที่เป็นแชมป์โลกมากถึง 6 คน ทั้งยังได้รับตำแหน่ง “เทรนเนอร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 1996” ของสมาคมมวยโลก ระหว่างทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดี มีจุดแปลกๆ ซึ่งน่าตั้งคำถามต่อบทสัมภาษณ์นี้เช่นกัน เพราะซาลาสคุยต่อว่านอกจากทำงานในแวดวงมวยสากลอาชีพแล้ว เขายังทำงานร่วมกับทีมงานมวยสากลสมัครเล่นของไทย และมีส่วนช่วยให้ทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ถึงสองเหรียญ (น่าจะเป็นรุ่น “สมรักษ์ คำสิงห์” ในปี 1996/2539 และ “วิจารณ์ พลฤทธิ์” ในปี 2000/2543)
เนื่องจากตามการรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ ซาลาสไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับทีมมวยสากลสมัครเล่นยุคนั้นอย่างเป็นทางการ และบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมรักษ์กับวิจารณ์ ก็น่าจะเป็น “ฮวน ฟอนตาเนียล” เทรนเนอร์ชาวคิวบาอีกคน ผู้เป็นหัวหน้าสต๊าฟโค้ชทีมมวยสมัครเล่นไทย ณ ขวบปีดังกล่าว มากกว่า
เรื่องนี้คงต้องลองติดต่อสอบถามผู้บริหารสมาคมมวยสากลสมัครเล่นยุคโน้น และ ฮวน ฟอนตาเนียล (ถ้าตามตัวเจอ) ว่าสิ่งที่ซาลาสกล่าวอ้างนั้น มีความจริง/เท็จแค่ไหน? อย่างไร?
แต่เรื่องที่สนุกและชวนฉุกคิดจริงๆ นั้นอยู่ตรงจุดที่สอง ซึ่งซาลาสกล่าวถึงบรรดาลูกศิษย์ชาวไทย ในประเด็นหลักของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
จุดใหญ่ใจความของบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์เดอะริง คือ การเชิญชวนให้ซาลาสมานั่งจัดอันดับนักมวยนานาชาติที่เขาเคยเทรน ว่าใครเป็นผู้มีความสามารถดีเลิศ หรือเป็น “ที่สุด” ในด้านต่างๆ
ซาลาสยกย่อง ฮอร์เก้ ลินาเรส แชมป์ไลต์เวตของสมาคมมวยโลกและเดอะริง ว่าเป็นลูกศิษย์ของเขา ที่มีศักยภาพโดยรวมดีที่สุด
ขณะที่ กีเยร์โม ริกอนโดซ์ ยอดมวยในพิกัดซูเปอร์แบนตัมเวตผู้ไม่เคยแพ้ใครนั้นถูกยกย่องว่ามีความเป็นเลิศทางด้านการป้องกันตัว, ความเฉลียวฉลาด และความครบเครื่องเรื่องทักษะเชิงมวย
ส่วน “ยูริออร์คิส แกมบัว” มวยคิวบาอีกรายในพิกัดไลต์เวต (ซึ่งเคยประหมัดกับสมจิตร จงจอหอ สมัยชกมวยสมัครเล่นมาแล้ว) ถูกยกย่องว่าเป็นผู้ออกหมัดได้รวดเร็วที่สุด เต้นฟุตเวิร์กเก่งสุด และหมัดหนักที่สุด
นอกจากนี้ ซาลาสระบุว่า “แดนนี่ กรีน” อดีตแชมป์โลกรุ่นไลต์เฮฟวี่เวตและครุยเซอร์เวตชาวออสเตรเลียนั้นเป็นลูกศิษย์ที่ออกหมัดแย็บได้ดีที่สุด
ซาลาสพูดถึงลูกศิษย์ที่มีดีกรีเป็นแชมเปี้ยนโลกชาวไทยอยู่สามคน
คนแรก ซาลาสกล่าวถึง “พิชิต ศิษย์บางพระจันทร์” อดีตแชมป์โลกฟลายเวต สหพันธ์มวยนานาชาติว่ถือเป็นนักมวยหมัดหนักคนหนึ่ง แต่ยังไม่เหนือกว่าแกมบัว ลูกศิษย์ที่หมัดหนักที่สุดของเขา
คนต่อมาที่ซาลาสยกย่องอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือ “ดาวรุ่ง ชูวัฒนะ” อดีตแชมป์โลกแบนตัมเวต สมาคมมวยโลกสองสมัย ซึ่งถูกชื่นชมในฐานะลูกศิษย์ผู้มีร่างกายแข็งแกร่งมากที่สุด
เทรนเนอร์คิวบาชี้ว่าดาวรุ่งเป็นคนแข็งแรงและทรหดอดทน เขามีพลังเรี่ยวแรงมากพอที่จะต่อยมวยพิกัดเฮฟวี่เวตลงไปกองบนพื้นเวทีได้ สำหรับซาลาส ดาวรุ่งมีข้อเสียสำคัญอยู่ตรงการไร้วินัยขณะฝึกซ้อม ทว่าเวลาขึ้นชกจริง เขากลับแสดงความแข็งแกร่งออกมาอย่างน่าเหลือเชื่อ
ลูกศิษย์ชาวไทยคนสุดท้ายที่ซาลาสชื่นชมยกย่อง จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากอดีตแชมป์โลกฟลายเวตสมาคมโลก “แสน ส.เพลินจิต”
สำหรับแฟนมวยชาวไทย และสื่อมวลชนสายหมัดมวยในประเทศไทย ชื่อของแสนดูจะถูกผูกติดอยู่กับความเป็นมวยบ๊อกเซอร์ยอดฝีมือ ผู้เปี่ยมไปด้วยลีลาชั้นเชิงการชกอันแพรวพราว จนได้รับฉายา “โผนสอง”
แต่ในมุมมองของซาลาส เขากลับเห็นว่าแสนเป็นลูกศิษย์ผู้มีคุณสมบัติ “คางหิน” มากที่สุด
เทรนเนอร์คิวบาวิเคราะห์ว่าแสนเป็นยอดมวยคนหนึ่ง แม้เขาจะมีรูปร่างบอบบางมากๆ แต่กลับมีคางที่แข็งแกร่งปานศิลา คุณสมบัติข้อนี้ช่วยให้แสนสามารถป้องกันตำแหน่งได้ถึง 9 ครั้ง โดยต้องเผชิญหน้ากับอดีตแชมป์โลกถึง 6 ราย
อย่างไรก็ตาม ผลบวกดังกล่าวได้ส่งผลเสียต่อตัวนักมวยในระยะยาว
“ปัจจุบันแสนมีอาการเมาหมัดเล็กน้อย เพราะเขารับหมัดคู่ต่อสู้มากเกินไปตอนชกมวย มันคือเรื่องดีที่คุณเป็นมวยคางหิน แต่เมื่อเส้นทางบนเวทียุติลง แล้วคุณต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยบทบาทที่ไม่ใช่พ่อค้ากำปั้น คุณสมบัติเด่นข้อที่ว่าก็จะกลายสภาพเป็นปัญหาในเวลาต่อมา” ซาลาสกล่าวถึงศิษย์รัก
เป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะเด่น “ร่วมกัน” ของนักมวยสากลอาชีพไทย ซึ่งยอดเทรนเนอร์ชาวคิวบามองเห็นคือความแข็งแกร่งทนทาน
แต่ความแข็งแรง ทรหด อดทน ก็มีข้อจำกัดของมันอยู่
เพราะอย่างน้อย ดาวรุ่ง ซึ่งเป็นมวยที่แข็งแกร่งสุดในสายตาซาลาส และอาจมีศักยภาพพอจะโค่นมวยรุ่นยักษ์ลงได้ด้วยซ้ำ ก็ไม่เคยต่อย “วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น” และ “หลักหิน วสันตสิทธิ์” ลงไปนอนกองกับพื้นเวที
แถมไฟต์สุดท้ายในการชกอาชีพของเขา ก็คือการเดินทางไปพ่ายน็อก “นานา ยอว์ คอนาดู” ที่สหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับแสน ซึ่งคนที่ตามมวยแบบผ่านๆ อาจคิดว่าเขาประสบความปราชัยในการชกอาชีพเพียงแค่ครั้งเดียว เมื่อคราวเสียตำแหน่งแชมป์ให้แก่ “โฮเซ่ โบนิญา” ด้วยการพ่ายคะแนน
แต่หลายคนคงลืมไปแล้วว่า (หรืออาจไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า) สองไฟต์สุดท้ายในการชกมวยสากลอาชีพของแสน คือการออกไปพ่ายน็อกให้แก่ “โจอิชิโร ทัตสึโยชิ” (อดีตแชมป์โลกระดับตำนาน ผู้พลาดท่าเสียทีแก่วีระพลอย่างย่อยยับสองครั้งซ้อน ก่อนหน้านั้น) และแพ้น็อกให้กับ “โชจิ คิมุระ” (มวยดาวรุ่งในขณะนั้น) ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2545-2546 ตามลำดับ
ถือเป็นการปิดฉากชีวิตนักมวยที่น่าเจ็บปวดไม่น้อย สำหรับลูกศิษย์ที่ “คางหินที่สุด” ของอิสมาเอล ซาลาส
เนื้อหาบางส่วนจาก https://www.ringtv.com/517756-best-trained-ismael-salas/#.Wfwq5ugLIzc.facebook
@ News Photo Credit :: matichon sport