<<>> ในที่สุด มหกรรมการแข่งขันกีฬาของมวลมนุษยชาติ ‘โอลิมปิคเกมส์’ ก็ถึงคราเวียนมาจัดขึ้นอีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ โดยมีกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ ซึ่งกว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคสำคัญอย่างไวรัสเขย่าโลก ‘โควิด-19’ มาจัดกันได้ ก็สาหัสสากรรจ์ถึงขนาดต้องเลื่อนยาวเป็นปี จากแต่เดิมที่มีกำหนดจัดเมื่อปี 2020 ปรากฏว่าเจอฤทธิ์โควิดอาละวาดจนเจ้าภาพต้องยอมขยับหนี กระนั้น พอมาเซ็ตคิวกันใหม่ในปี 2021 นี้ ก็ยังไม่วายเผชิญกับการแพร่ระบาดไม่จบสิ้นอยู่นั่นเอง บีบให้ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันจำต้องตัดสินใจยึดถือมาตรการความปลอดภัย โดยไม่อนุญาตให้มีผู้ชมในสนามหรือสถานที่แข่งขันเด็ดขาด-ในทุกชนิดกีฬา
 
 
 
 
แน่นอนว่า นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบด้านลบต่อเจ้าภาพอย่างมหาศาล ทั้งในแง่รายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมและรายได้จากสปอนเซอร์ส่วนหนึ่ง รวมถึง ‘กระแส’ ความสนใจจากภาพลักษณ์ความยิ่งใหญ่ที่ต้องการจะนำเสนอสู่สายตาชาวโลกต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย แต่นั่นถือเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับในข้อจำกัดอันเกิดจากมหันตภัยไวรัส ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็ยังไม่มีใครหาทางกำจัดได้
 
 
อย่างไรก็ตาม ในมุมร้ายของผู้จัด ก็กลับเป็นมุมดีของผู้รอชมการถ่ายทอดสดทั่วผืนพิภพ ซึ่งไม่มีโอกาสไปลุ้นสด ๆ ถึงสนามแข่งขันอยู่แล้ว แต่โอลิมปิคโตเกียวหนนี้จะเป็นครั้งแรกที่คณะผู้จัดมุ่งเน้นการนำเสนอบรรยากาศการชิงชัยถ่ายทอดสู่การรับรู้ของมหาชนผ่านระบบการสื่อสารแห่งยุคสมัยที่ครบถ้วนทุกแง่มุม ในระบบ 4K ด้วยจำนวนเวลารวมกว่า 9,000 ชั่วโมง – ครบทั้ง 33 ชนิดกีฬา ยิ่งกับเมืองไทยของเรา ชัดเจนแล้วว่าตลอดห้วงโอลิมปิค คนไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านทีวีถึง 6 ช่อง ได้แก่ ไทยพีบีเอส, ช่อง 11 (NBT), ทรูโฟร์ยู, JKN (NEW18 เดิม), GMM, PPTV นอกจากนี้ยังมีทีวีดาวเทียมของกกท. อย่าง T-Sport ร่วมด้วยแอปมือถือ AIS PLAY เรียกว่าดูกันหูตาแฉะตั้งแต่ก่อนพิธีเปิด (ซึ่งเป็นการถ่ายทอดฟุตบอลรอบแบ่งกลุ่ม) นั่นเลย
 
 
 
 
สำหรับ ‘มวยสากลสมัครเล่น’ ซึ่งตลอดห้วงเวลาของโอลิมปิคทุกครั้งที่ผ่านมา ถือเป็นกีฬาแห่งความหวังสูงสุดของคนไทย ด้วยผลงานรวม 14 เหรียญรางวัล (4 ทอง, 4 เงิน และ 6 บรอนซ์) จนมาในโอลิมปิคครั้งก่อนหน้า ที่ริโอเดจาไนโร บราซิล ปี 2016 นี่เอง นักชกเสื้อกล้ามจากไทยแลนด์ต้องรับทานแห้ว ไม่ได้เหรียญอะไรติดมือกลับมาเลย พลอยให้เกิดคำถามว่า ภายใต้การบริหารของ นายพิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน จะไม่สามารถสร้างผลงานความสำเร็จใด ๆ ในมหกรรมกีฬาของชาวโลกอย่างโอลิมปิคได้อีกเลยหรือไร ?!?
 
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจำนวนนักชกทีมชาติไทยที่จะเข้าร่วมศึกกำปั้นบนสังเวียนเรียวโกคุ โกคุกิคัง นครโตเกียว ในครั้งนี้ มีเพียง 5 คนเท่านั้น ประกอบด้วย ธิติสรรณ์ ปั้นโหมด (52 กก.ชาย), ฉัตร์ชัยเดชา บุตรดี (57 กก.ชาย), ใบสน มณีก้อน (69 กก.หญิง), สุดาพร สีสอนดี (60 กก.หญิง) และ จุฑามาศ จิตรพงศ์ (51 กก.หญิง) ทำให้ต้องประหลาดใจว่า ไทยส่งนักชกสมัครเล่นฝ่ายชาย ไปลุ้นเหรียญโอลิมปิคที่ญี่ปุ่นเพียง 2 หน่อ น้อยที่สุดเท่าที่เคยส่งแข่งนับตั้งแต่โอลิมปิค เมลเบิร์น ปี 1956 เป็นต้นมา-เลยเชียวหรือ ?!? ในขณะที่กำปั้นฝ่ายหญิงมีถึง 3 คน
 
 
 
 
 
 
ทั้งที่มวยสมัครเล่นโตเกียวเกมส์ มีแข่งกัน 13 รุ่น แบ่งเป็นชาย 8 รุ่น (52 กก./ 57 กก./ 63 กก./ 69 กก./ 75 กก./ 81 กก./ 91 กก./ มากกว่า 91 กก.) และหญิง 5 รุ่น (51 กก./ 57 กก./ 60 กก./ 69 กก./ 75 กก.)
นั่นหมายถึง มวยเสื้อกล้ามชาย ซึ่งเคยเป็นความหวังสูงสุดและสร้างผลงานเป็นตำนานโอลิมปิคของไทยมาตลอด ปัจจุบันตกต่ำจนเหลือตัวแทนทีมชาติที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปให้กองเชียร์บ้านเราได้มีโอกาสได้ลุ้นเพียง 2 คน ส่วนฝ่ายหญิง ซึ่งเพิ่งถูกขยายเพิ่มเป็น 5 รุ่น มีกำปั้นสาวไทยผ่านเข้าไปแข่งได้ถึง 3 คน
 
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าว จึงขัดกับความคุ้นชินของแฟนกีฬากำปั้นบ้านเรา ที่เคยชมและเชียร์นักมวยชายเป็นหลัก แต่มาในคราวนี้กลายเป็นว่ามีจำนวนกำปั้นสาวให้เชียร์มากกว่าไปซะนั่น !?!
 
 
 
 
 
แล้วเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ในวันพรุ่งนี้ (เสาร์ 17 ก.ค.) เราจะมาไล่เรียงเรื่องราวให้ทราบกัน รวมถึงทุกวันจนกว่าศึกกำปั้นโตเกียวเกมส์จะเปิดฉาก ณ พื้นที่ตรงนี้ ขอเชิญทุกท่านร่วมรับรู้ข้อมูลทั้งด้านกว้าง-ด้านลึกของการชิงเหรียญมวยเสื้อกล้ามรายการนี้ ตลอดจนรายละเอียดของนักสู้ระดับตัวเก็ง-ตัวกลั่นของทุกพิกัดรุ่น ที่ช่วยเพิ่มเติมรสชาติความมันส์ในการรับชมได้แน่นอน
 
 
ติดตามกันไปเรื่อย ๆ นะครับ…
 
พูนเพชร เพชรใหม่ (มวยตู้)
-+
 
 
 
 
@ *คลิก* ติดตามต่อกับพันธมิตรข่าว เว็บ boxingboy2021.blogspot.comได้เลยครับ.

เชิญแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ

comments