-@@- หากจะถามว่าปัจจุบัน เมืองไทยเรามี “แชมเปี้ยนโลก”มาแล้วกี่คน ..!?!? ผมเองแม้จะชื่นชอบเรื่องหมัดมวย และเฝ้าศึกษาเก็บประวัตินักชดไทยมานาน ก็ยังไม่สามารถจะให้คำตอบได้แน่ชัดหรอกครับ ว่าเรา มีแชมป์โลกชาวไทยกี่คนกันแน่ ..ทั้งนี้ เพราะเราจะเอาอะไรมายึดเป็นบรรทัดฐาน
ในเมื่อครั้งหนึ่ง “เด่น จุลพันธ์” นักมวยไทยแท้ๆ โดยกำเนิด ที่ญี่ปุ่นเคยนำไปสรรสร้างจนกลายเป็นแชมป์โลก ในนาม “อีเกิ้ล เคียววะ” หรือแม้แต่ “แซมซั่น กระทิงแดงยิม” แชมป์โลกสถาบันย่อย WBF กลับไม่ได้รับการยอมรับ ว่าเป็นแชมป์โลกเต็มตัว เพียงเพราะไม่ได้รับการรับรองจาก “การกีฬาแห่งประเทศไทย” ทว่าจะมีใครรู้บ้างไหม ว่าเขา เป็นแชมเปี้ยนโลกที่ร่ำรวยที่สุด จากการป้องกันตำแหน่งยาวนานถึง 38 ครั้ง..!!
แต่หากมีใครถามผมว่า … ใครคือแรงบันดาลใจ ให้มีแชมป์โลกชาวไทยคนแรก ได้สำเร็จ (โผน กิ่งเพชร คว้าแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต เมื่อ 16 เมษายน พ.ศ.2503) ผมขอตอบได้ทันทีว่า เขาคือ …
“จิ้งเหลนไฟ” จำเริญ ทรงกิตรัตน์
“พ.ต.ต.สำเริง ศรีมาดี” คือชื่อจริงของเขา ซึ่งเป็นนักมวยไทยคนแรกที่ได้ขึ้นชิงแชมป์โลก กับ จิมมี่ คารัทเธอร์ เจ้าของตำแหน่งรุ่นแบนตั้มเวต ชาวออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2497 หรือเมื่อ 60 ปีที่ผ่านมาพอดี
วันเวลาแม้ล่วงผ่าน เนิ่นนานมาเพียงแค่ 60 ปี กว่าค่อนชีวิตของอายุคนเรา แต่ไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ครั้งนั้น กลับลบเลือน และถูกบิดเบือนจางหายไปจากความทรงจำของพี่น้องชาวไทยเรา อย่างไม่น่าเชื่อ ภาพการชกครั้งนั้น กลับไม่มีหลงเหลือไว้ให้ลูกหลานได้จดจำ หรือศึกษาแม้แต่น้อยนิด
ซ้ำร้ายกว่านั้น สถานที่การชกแท้ๆ ยังคลุมเครือ ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เป็นการชกกันที่ใด ระหว่างสนามกีฬาจารุสเถียร กับ สนามศุภชลาศัย ..!?!?
ปากต่อปากก็เล่ากันไป ที่จำได้ก็คือ ก่อนหน้าการชกเกิดพายุใหญ่พัดกระหน่ำอย่างหนัก จนทั้งคู่ปลงใจขอถอดรองเท้าชกกัน ถือเป็นคู่มวยชิงแชมป์โลก คู่แรกที่ชกกันในกำหนด 12 ยก !! (ยุคสมัยนั้น ชกกันกำหนด 15 ยก)
โดย เรื่องราวการ “ชำระประวัติศาสตร์” ครั้งนี้ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หน่วยงานย่อยๆของรัฐ ภายใต้การดูแลของ “คุณโดม สุขวงศ์” ผู้อำนวยการ และผู้ดำเนินการอย่าง “คุณพุทธิพงศ์ เจียมรัตตัญญู” เล็งเห็นความสำคัญ ของเหตุการณ์ดังกล่าว หลังได้รับบริจาค จาก”นางพิสมัย เล็กประเสริฐ” แห่งพิสมัยฟิล์ม ท่าตะโก นครสวรรค์ ซึ่งเป็นเจ้าของสายหนังรายใหญ่ของจังหวัดในยุคนั้น อุทิศหลักฐานสำคัญ หลังจากหมดยุคหนังกลางแปลง จนต้องเลิกกิจการไป โดยได้มอบ ฟิลม์ภาพยนตร์เหล่านี้ให้แก่ “หอภาพยนตร์” รวมทั้งหนังไทยเก่าๆเรื่องอื่นๆอีกมากมาย
หลักฐานมวยโลกคู่ประวัติศาสตร์ไฟต์นี้ เป็นฟิลม์ภาพยนตร์ 16 มม. ความยาว 26 นาที ภาพสีขาว-ดำ และไม่มีเสียง แต่เป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าการชกของทั้งคู่ ที่ถูกนำมาขึ้นทะเบียน เป็นสมบัติของชาติ
นั่นจึงเป็นที่มา ให้ผู้ทรงคุณวุฒิอย่าง คุณซูม ไทยรัฐ หรือ “จ่าแฉ่ง” (สมชาย กรุสวนสมบัติ) ,คุณ”บิ๊กเหนาะ” (ทัศนะเทพ รัตนจันทรา) แฟนพันธุ์แท้โลกกำปั้น ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร ช่วยกันวิเคราะห์ และให้ข้อมูลในเหตุการณ์ ไปพร้อมๆกับผู้สนใจเข้าชม
น่าเสียดายที่ไม่มีภาพการชกเฉพาะคู่เอกให้เห็นเลย คงมีเพียงแค่ เหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ แชมป์โลกชาวออสซี่ เดินทางโดยเครื่องบินถึงสยามประเทศ พร้อมภริยา ได้รับการต้อนรับจากผู้นำของไทย ซึ่งมีทั้ง จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ สองผู้นำเผด็จการในยุคนั้น ให้การต้อนรับ ก่อนขึ้นขบวนรถแห่แหน จากท่าอากาศยานดอนเมือง ผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคม เข้าสู่ถนนราชดำเนิน เป็นการโชว์ตัว ท่ามกลางการต้อนรับของพี่น้องประชาชนชาวไทย ตลอดสองข้างทางอย่างคับคั่ง
ฟิลม์ดังกล่าว ยังฉายรวมทั้งบรรยากาศ ภาพการฟิตซ้อม โชว์ตัว และการลงนวมของ คาร์รัทเธอร์ศ กับนักชกไทย ด้วยบรรยากาศดุเดือดจริงจัง ต่างกับสมัยนี้ลิบลับ
แม้ไม่มีเสียง แต่ภาพเหตุการณ์ได้เล่าเรื่องให้เราในยุคหลังได้ทราบข้อมูล กระจ่างชัด จากหลายเหตุการณ์ อย่างแจ้มแจ้ง คำถามหลายประเด็นที่คลุมเครือมานาน ถูกฟ้องและชี้แจงคำตอบออกมาด้วยภาพที่เห็น
การชกครั้งนั้น เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2497 หรือเมื่อ 60 ปีมาแล้ว ระหว่าง จำเริญ ทรงกิตรัตน์ ผู้ท้าชิงชาวไทย กับ จิมมี่ คาร์รัทเธอร์ส (Jimmy Carruthers) เกิดขึ้นที่ สนามศุภชลาศัย อย่างแน่นอน !! หาใช่ สนามจารุสเถียร (หรือสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) แต่อย่างใด
อีกทั้งคนดูก็ให้ความสนใจการชกครั้งแรกในเมืองไทยนี้กันอย่างล้นหลาม จากการบันทึกของ สถิติฝรั่งผ่าน boxrec.com แจ้งว่า มียอดผู้ชมสูงถึง 69,819 คน ดังภาพเผยให้เห็นถึง ความสนใจของประชาชนมากมาย ที่ทะยอยเดินทางเข้าสู่สนามศุภฯ ก่อนจะมีเหตุการณ์ฝนตกลงมาอย่างหนัก จนผู้ชมต้องสวมเสื้อกันฝน และกางร่มจนกลายเป็นดอกเห็ดบานสะพรั่งไปทั่วอาณาบริเวณสนามแข่งขันกลางแจ้งแห่งนั้น
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ จากภาพประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น แม้จะมีความยาวไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่ก็สามารถบ่งบอก เรื่องราวต่างๆเป็นการ “ชำระประวัติศาสตร์” ได้เป็นอย่างดี