ภาพจากเฟซบุ๊ก Ismael Antonio Salas
ยอดโค้ชชาวคิวบาวัย 60 ปี เคยมีประสบการณ์เทรนแชมเปี้ยนโลกมาแล้ว 19 ราย รวมทั้งยอดมวยเบอร์ต้นๆ ในยุคนี้อย่าง “กีเยร์โม ริกอนโดซ์” ที่เคยมาฟิตซ้อมฝึกฝนกับซาลาสอยู่ระยะหนึ่ง
หรือ “ฮอร์เก้ ลิเนเรส” ยอดมวยในรุ่นไลต์เวต ณ ค.ศ.2017 ชาวเวเนซุเอลา ก็ถือเป็นศิษย์รุ่นล่าสุดของเขา
ปัจจุบันซาลาสมียิมของตัวเองอยู่ที่ลาสเวกัส เขาใช้ชีวิตกับภรรยาชาวญี่ปุ่น ซึ่งพบรักกัน ขณะเทรนเนอร์ชาวคิวบาเดินทางไปทำงานที่นั่น พร้อมด้วยลูกชายหนึ่งคน
อย่างไรก็ตาม หลายคน (ที่เป็นแฟนมวย) คงจำกันได้ดีว่า ก่อนหน้านี้ซาลาสเคยทำงานที่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน และมีส่วนสร้างสรรค์ปั้นแต่งแชมป์โลกหลายคน ในสังกัดค่าย “ส.เพลินจิต” และ “ทรงชัย บ๊อกซิ่ง โปรโมชั่น”
รวมถึงการมีครอบครัวและลูกๆ อยู่ที่ประเทศไทย โดย “ญีน่า ซาลาส” ลูกสาวของเขา ก็เคยเป็นนางเอกละครโทรทัศน์เรื่อง “รัตนาวดี” ทางช่องพีพีทีวีมาแล้ว ก่อนจะย้ายไปเซ็นสัญญาเป็นดาราสังกัดช่อง 3
อิสมาเอล ซาลาส เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ “แอนสัน เวนไรต์” แห่ง “เดอะริง” เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
มีสองจุดใหญ่ๆ ในบทสัมภาษณ์ที่เขากล่าวอ้างอิงถึงเมืองไทย
จุดแรก ซาลาสย้อนเล่าถึงประสบการณ์ในการเป็นโค้ชมวยสากลสมัครเล่นของตนเอง ที่เริ่มต้นจากบ้านเกิด ก่อนจะโยกย้ายมายังทวีปเอเชีย โดยเริ่มต้นกับทีมชาติปากีสถาน ตามคำเชิญของ “อันวาร์ ชอว์ดรี้” อดีตประธานสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติชาวปากีสถาน แล้วมีประเทศไทยเป็นเป้าหมายลำดับถัดมา
ที่เมืองไทย ซาลาสเปลี่ยนแปลงบทบาทมาเป็นเทรนเนอร์มวยอาชีพ เขาบอกกับเดอะริงว่าตนเองมีลูกศิษย์ชาวไทยที่เป็นแชมป์โลกมากถึง 6 คน ทั้งยังได้รับตำแหน่ง “เทรนเนอร์ยอดเยี่ยมแห่งปี 1996” ของสมาคมมวยโลก ระหว่างทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ดี มีจุดแปลกๆ ซึ่งน่าตั้งคำถามต่อบทสัมภาษณ์นี้เช่นกัน เพราะซาลาสคุยต่อว่านอกจากทำงานในแวดวงมวยสากลอาชีพแล้ว เขายังทำงานร่วมกับทีมงานมวยสากลสมัครเล่นของไทย และมีส่วนช่วยให้ทีมชาติไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ถึงสองเหรียญ (น่าจะเป็นรุ่น “สมรักษ์ คำสิงห์” ในปี 1996/2539 และ “วิจารณ์ พลฤทธิ์” ในปี 2000/2543)
เนื่องจากตามการรับรู้ของคนไทยส่วนใหญ่ ซาลาสไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับทีมมวยสากลสมัครเล่นยุคนั้นอย่างเป็นทางการ และบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมรักษ์กับวิจารณ์ ก็น่าจะเป็น “ฮวน ฟอนตาเนียล” เทรนเนอร์ชาวคิวบาอีกคน ผู้เป็นหัวหน้าสต๊าฟโค้ชทีมมวยสมัครเล่นไทย ณ ขวบปีดังกล่าว มากกว่า
เรื่องนี้คงต้องลองติดต่อสอบถามผู้บริหารสมาคมมวยสากลสมัครเล่นยุคโน้น และ ฮวน ฟอนตาเนียล (ถ้าตามตัวเจอ) ว่าสิ่งที่ซาลาสกล่าวอ้างนั้น มีความจริง/เท็จแค่ไหน? อย่างไร?
แต่เรื่องที่สนุกและชวนฉุกคิดจริงๆ นั้นอยู่ตรงจุดที่สอง ซึ่งซาลาสกล่าวถึงบรรดาลูกศิษย์ชาวไทย ในประเด็นหลักของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
จุดใหญ่ใจความของบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์เดอะริง คือ การเชิญชวนให้ซาลาสมานั่งจัดอันดับนักมวยนานาชาติที่เขาเคยเทรน ว่าใครเป็นผู้มีความสามารถดีเลิศ หรือเป็น “ที่สุด” ในด้านต่างๆ
ซาลาสยกย่อง ฮอร์เก้ ลินาเรส แชมป์ไลต์เวตของสมาคมมวยโลกและเดอะริง ว่าเป็นลูกศิษย์ของเขา ที่มีศักยภาพโดยรวมดีที่สุด
ขณะที่ กีเยร์โม ริกอนโดซ์ ยอดมวยในพิกัดซูเปอร์แบนตัมเวตผู้ไม่เคยแพ้ใครนั้นถูกยกย่องว่ามีความเป็นเลิศทางด้านการป้องกันตัว, ความเฉลียวฉลาด และความครบเครื่องเรื่องทักษะเชิงมวย
ส่วน “ยูริออร์คิส แกมบัว” มวยคิวบาอีกรายในพิกัดไลต์เวต (ซึ่งเคยประหมัดกับสมจิตร จงจอหอ สมัยชกมวยสมัครเล่นมาแล้ว) ถูกยกย่องว่าเป็นผู้ออกหมัดได้รวดเร็วที่สุด เต้นฟุตเวิร์กเก่งสุด และหมัดหนักที่สุด
นอกจากนี้ ซาลาสระบุว่า “แดนนี่ กรีน” อดีตแชมป์โลกรุ่นไลต์เฮฟวี่เวตและครุยเซอร์เวตชาวออสเตรเลียนั้นเป็นลูกศิษย์ที่ออกหมัดแย็บได้ดีที่สุด
@ ซาลาสพูดถึงลูกศิษย์ที่มีดีกรีเป็นแชมเปี้ยนโลกชาวไทยอยู่สามคน
คนแรก ซาลาสกล่าวถึง “พิชิต ศิษย์บางพระจันทร์” อดีตแชมป์โลกฟลายเวต สหพันธ์มวยนานาชาติว่ถือเป็นนักมวยหมัดหนักคนหนึ่ง แต่ยังไม่เหนือกว่าแกมบัว ลูกศิษย์ที่หมัดหนักที่สุดของเขา
คนต่อมาที่ซาลาสยกย่องอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือ “ดาวรุ่ง ชูวัฒนะ” อดีตแชมป์โลกแบนตัมเวต สมาคมมวยโลกสองสมัย ซึ่งถูกชื่นชมในฐานะลูกศิษย์ผู้มีร่างกายแข็งแกร่งมากที่สุด
เทรนเนอร์คิวบาชี้ว่าดาวรุ่งเป็นคนแข็งแรงและทรหดอดทน เขามีพลังเรี่ยวแรงมากพอที่จะต่อยมวยพิกัดเฮฟวี่เวตลงไปกองบนพื้นเวทีได้ สำหรับซาลาส ดาวรุ่งมีข้อเสียสำคัญอยู่ตรงการไร้วินัยขณะฝึกซ้อม ทว่าเวลาขึ้นชกจริง เขากลับแสดงความแข็งแกร่งออกมาอย่างน่าเหลือเชื่อ
ลูกศิษย์ชาวไทยคนสุดท้ายที่ซาลาสชื่นชมยกย่อง จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากอดีตแชมป์โลกฟลายเวตสมาคมโลก “แสน ส.เพลินจิต”
สำหรับแฟนมวยชาวไทย และสื่อมวลชนสายหมัดมวยในประเทศไทย ชื่อของแสนดูจะถูกผูกติดอยู่กับความเป็นมวยบ๊อกเซอร์ยอดฝีมือ ผู้เปี่ยมไปด้วยลีลาชั้นเชิงการชกอันแพรวพราว จนได้รับฉายา “โผนสอง”
แต่ในมุมมองของซาลาส เขากลับเห็นว่าแสนเป็นลูกศิษย์ผู้มีคุณสมบัติ “คางหิน” มากที่สุด
เทรนเนอร์คิวบาวิเคราะห์ว่าแสนเป็นยอดมวยคนหนึ่ง แม้เขาจะมีรูปร่างบอบบางมากๆ แต่กลับมีคางที่แข็งแกร่งปานศิลา คุณสมบัติข้อนี้ช่วยให้แสนสามารถป้องกันตำแหน่งได้ถึง 9 ครั้ง โดยต้องเผชิญหน้ากับอดีตแชมป์โลกถึง 6 ราย
อย่างไรก็ตาม ผลบวกดังกล่าวได้ส่งผลเสียต่อตัวนักมวยในระยะยาว
“ปัจจุบันแสนมีอาการเมาหมัดเล็กน้อย เพราะเขารับหมัดคู่ต่อสู้มากเกินไปตอนชกมวย มันคือเรื่องดีที่คุณเป็นมวยคางหิน แต่เมื่อเส้นทางบนเวทียุติลง แล้วคุณต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยบทบาทที่ไม่ใช่พ่อค้ากำปั้น คุณสมบัติเด่นข้อที่ว่าก็จะกลายสภาพเป็นปัญหาในเวลาต่อมา” ซาลาสกล่าวถึงศิษย์รัก
เป็นที่น่าสังเกตว่าลักษณะเด่น “ร่วมกัน” ของนักมวยสากลอาชีพไทย ซึ่งยอดเทรนเนอร์ชาวคิวบามองเห็นคือความแข็งแกร่งทนทาน
แต่ความแข็งแรง ทรหด อดทน ก็มีข้อจำกัดของมันอยู่
เพราะอย่างน้อย ดาวรุ่ง ซึ่งเป็นมวยที่แข็งแกร่งสุดในสายตาซาลาส และอาจมีศักยภาพพอจะโค่นมวยรุ่นยักษ์ลงได้ด้วยซ้ำ ก็ไม่เคยต่อย “วีระพล นครหลวงโปรโมชั่น” และ “หลักหิน วสันตสิทธิ์” ลงไปนอนกองกับพื้นเวที
แถมไฟต์สุดท้ายในการชกอาชีพของเขา ก็คือการเดินทางไปพ่ายน็อก “นานา ยอว์ คอนาดู” ที่สหรัฐอเมริกา
เช่นเดียวกับแสน ซึ่งคนที่ตามมวยแบบผ่านๆ อาจคิดว่าเขาประสบความปราชัยในการชกอาชีพเพียงแค่ครั้งเดียว เมื่อคราวเสียตำแหน่งแชมป์ให้แก่ “โฮเซ่ โบนิญา” ด้วยการพ่ายคะแนน
แต่หลายคนคงลืมไปแล้วว่า (หรืออาจไม่เคยรับรู้มาก่อนว่า) สองไฟต์สุดท้ายในการชกมวยสากลอาชีพของแสน คือการออกไปพ่ายน็อกให้แก่ “โจอิชิโร ทัตสึโยชิ” (อดีตแชมป์โลกระดับตำนาน ผู้พลาดท่าเสียทีแก่วีระพลอย่างย่อยยับสองครั้งซ้อน ก่อนหน้านั้น) และแพ้น็อกให้กับ “โชจิ คิมุระ” (มวยดาวรุ่งในขณะนั้น) ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ.2545-2546 ตามลำดับ
ถือเป็นการปิดฉากชีวิตนักมวยที่น่าเจ็บปวดไม่น้อย สำหรับลูกศิษย์ที่ “คางหินที่สุด” ของอิสมาเอล ซาลาส
เนื้อหาบางส่วนจาก https://www.ringtv.com/517756-best-trained-ismael-salas/#.Wfwq5ugLIzc.facebook
ที่มามติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 – 16 พฤศจิกายน 2560คอลัมน์คนมองหนังผู้เขียนคนมองหนังเผยแพร่