<<>> by www.thairath.co.th , Sun, 15 May 2016..          

            …มี 2 สิ่งที่แวบขึ้นมาในหัว, อย่างแรก น่าจะเป็นแบบอย่างในยุคสมัยที่อะไรได้มาง่ายๆ ไม่ต้อง มานะ อุตสาหะ บากบั่น และสอง ที่ต่างประเทศเขาได้รับการยอมรับมาก โด่งดังและถูกสื่อมาขอทำสกู๊ปสัมภาษณ์ว่า เด็กยากจน อดอยาก ประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจหมื่นล้านได้อย่างไร

แต่ทำไมคนไทยแทบจะไม่รู้จักเรื่องราว ‘หนุ่มไทย’ รายนี้ในหน้าสื่อมาก่อน, เป็นความคิดที่ผุดขึ้นมาระหว่างนั่งสนทนาบนเก้าอี้นุ่ม อุ่นจากอุณหภูมิตัว

 

‘ธุรกิจที่บ้านล้มละลายตอนอายุ 20 จากที่เคยกินอยู่แบบสุขสบาย’ พ่อทิ้งพวกเราไปแบบไร้เยื่อใย ทำให้ทั้ง 3 (แม่และน้องชาย) กลายเป็นคนไร้ที่อยู่ ไร้ที่ซุกหัว เมื่อทนความหนาวไม่ไหวจึงต้องแอบพาคุณแม่ไปหลับในห้องหอพักที่ ‘ฮาร์วาร์ด’ ลำบาก อดมื้อกินมื้อ กอดคอกันร้องไห้ทุกวัน เพราะไม่เห็นฝั่งฝันอนาคต เป็นแบบนั้นอยู่หลายปี

“เราร้องไห้กันบ่อยมาก…’ ชายตรงหน้าผมนิ่ง ก้มหน้าหลบตากล้องที่กำลังจับจ้องแววตา ความมุ่งมั่นกลายเป็นเสียงสั่น ดวงตาเริ่มเปลี่ยน ร้องเพราะมองไม่เห็นอนาคต หลายครั้งคุณแม่ต้องอด เพื่อให้ผมกับน้องได้กินข้าว

 

“ขอโทษนะครับ ผมเกือบร้องไห้ออกมา แย่จริงๆ เลย” เขาเสียงเครือๆ เชื่อไหมภาพความ ‘อดอยาก’ ภาพน้ำตาที่อาบแก้มซ้าย-ขวายังติดตรึงพวกเขาจนกระทั่งวันนี้

ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสคุยกับ นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของชีวิตดราม่า รวย จน ไร้บ้าน อดอยาก ชีวิตขึ้นสุด-ลงสุดเน่ายิ่งกว่านิยาย เรื่องเล่าชีวิต ความลำบาก แต่ทว่ากลายเป็นแรงบันดาลใจที่ถูกรายการแทบจะทั่วโลก ขอทำสกู๊ปสัมภาษณ์ หนุ่มลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เจ้าของธุรกิจหลายหมื่นล้าน

 

กับชายผู้มีเลือดนักสู้อยู่เต็มกาย ‘ชาตรี ศิษย์ยอดธง’ ที่คนไทยจะได้อะไรจากตัวเขา

 

 

ไหว้ครู ก่อนขึ้นชก : รวย จน อดอยาก ไร้บ้าน เรื่องจริงยิ่งเน่ายิ่งกว่านิยาย 

เร่ิมต้นชีวิตผมไม่ได้ลำบากมากมาย…ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น สื่อสารภาษาไทยชัดราว 70% และว่า ตอนอายุ 14 ปี ที่บ้านมีฐานะ คุณพ่อทำธุรกิจที่ดิน กระทั่งอายุ 20 บ้าน รถ เงินที่เคยมี ก็หมดสิ้นเพราะธุรกิจล้มละลาย จากที่เคยมีเงิน มีบ้าน ครอบครัวก็กลายเป็นคนจนทันที

 

พ่อ-แม่แยกทางกัน เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังจะสมัครเรียน ‘ฮาร์วาร์ด’ คิดว่าอาจจะไม่ไปและทำงานอยู่เมืองไทย เพราะไม่มีเงิน แต่คุณแม่มีความมั่นใจ และพูดเสมอว่าชาตรี ยูเป็นลูกคนโต คุณเป็นความหวัง แต่ยังไม่รู้จะหลุดพ้นตรงนี้ได้ยังไง เพราะชีวิตยากจน และอับจนหนทางมาก 

 

“บางครั้งแอบเห็นคุณแม่อด เพื่อให้เราได้กินอิ่ม ช่วงนั้นผมร้องไห้บ่อยมาก…” เขานิ่งและว่า เชื่อไหมพูดไปแล้วภาพนั้นยังติดตา ร้องไห้ เพราะไม่มีอนาคต บ้านไม่มี ไม่มีทางออก น้องชายอายุ 15 จะไปโรงเรียนยังไง เหมือนเราโดนทิ้งจากพ่อ และถูกผลักให้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัวแบบไม่ได้ตั้งตัว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยากลำบากมาก

 

กอดคอร่ำไห้ครั้งสุดท้ายที่ ฮาร์วาร์ด

กระเสือกกระสนจนเดินทางไปเรียนต่อที่ฮาร์วาร์ดได้ แต่ชีวิตลำบาก อดอยาก กินวันละมื้อก็เคยมาแล้ว เพื่อเก็บเงินที่ได้จะส่งเงินไป เดือนหนึ่งโทรกลับไปหาแม่ได้น้อยมาก โทรครั้งละแค่ 1 นาที

“มีอยู่ครั้งหนึ่งเราร้องไห้กันมาก คิดว่าทำไมต้องลำบากแบบนี้ และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ตนร้องไห้ที่ฮาร์วาร์ด หลังจากพามาอยู่ที่นี่ได้ แต่ตอนกลางคืนก็ต้องแอบพาแม่อยู่ในห้องพัก ปกติที่เราอาศัยอยู่ที่ฮาร์วาร์ดเข้า-ออกได้ แต่ค้างไม่ได้ แต่แม่ไม่มีที่อยู่ เราอาศัยนอนพื้น ให้แม่นอนบนเตียง ชีวิตเป็นแบบนั้นอยู่ 2 ปี”

 

อยู่ในห้องคุยอะไรกัน? – ผมสงสัย,  ร้องไห้กันบ่อยมาก เขาย้ำ แต่แปลกอย่างที่บอก แม่มั่นใจในตัวเรามาก มากกว่าเรามั่นใจตัวเอง ถ้าไม่มีคุณแม่ก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น 

 

“คุณแม่เป็นแรงผลักดันเราเสมอๆ สิ่งที่ท่านจะพูดบ่อยๆ ‘ชาตรีคุณเป็นคนพิเศษ ยูทำได้ และหากมีโอกาสต้องช่วยโลก ให้โอกาสกับทุกคน’ คุณแม่เป็นกำลังใจ และให้พลังสู้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมฝ่าฟันความลำบากไปได้คือ ‘ผมมีมวยไทยอยู่ในสายเลือด’ ชีวิตอาจจะลำบากมาก แต่มวยไทยทำให้ผมมีใจสู้ ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคมากมาย” อดีตนักมวย ฉายา ‘ศิษย์ยอดธง’ ที่ใช้ชีวิตด้วยการชกมวยหาเลี้ยงชีพที่ต่างประเทศบอกแบบนั้น

 

 

 

ยกแรก : มวยไทย นักต่อสู้อยู่ในสายเลือด…!

‘วิถีนักมวย’ เร่ิมเข้ามาในชีวิตเขา ตั้งแต่อายุ 13 ที่ ‘ค่ายศิษย์ยอดธง” พัทยา ครูยอดธง พ่วงท้ายว่า ‘ชาตรี ศิษย์ยอดธง’ จนถึงวันนี้ยังฝึกซ้อมอยู่ทุกวันเป็นระยะ 30 ปี ที่อยู่บนสังเวียน

“ที่อเมริกาผมต่อยมวยเพราะมันทำให้มีชีวิตรอดจากความอดอยาก หลายครั้งใจท้อแท้ แต่การฝึกฝนมวยไทย ทำให้ร่างกาย จิตใจเข้มแข็งและฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ การฝึกทั้งข้างใน ความเข้มแข็ง ความอดทนของหัวใจ ข้างนอก ความเข้มแข็ง ความอดทนของร่างกายทั้งหมดนี้ผมเรียนรู้จาก เพื่อนๆ นักมวยครูยอดธง”

 

ผมมีเพื่อนเป็นนักมวยเยอะ หลายคนวันนั้นกลายเป็นระดับสุดยอดของอาชีพ ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเขาชีวิตแย่กว่าผมมาก จน ลำบากกว่าผมมากๆ แต่เขายังมีความสุข ฝ่าฟันอุปสรรคแบบไม่ย่อท้อได้ ทั้งหมดนี้เป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบที่ทำให้เราอดทน จนวันนี้ผมใช้สิ่งเหล่านั้นฝ่าฟันสร้างธุรกิจต่างๆ และกลายเป็นนักธุรกิจที่มีเงินได้

ต่อยมวยครั้งแรกเป็นยังไง? เจ็บซิ เขาหัวเราะ ทุกแมตช์เจ็บมาก คนที่เล่นเพื่อสุขภาพ จะไม่เจ็บ แต่เมื่อไหร่ที่ขึ้นเวทีเจ็บมาก ทุกครั้งต่อยเสร็จจะเดินไม่ได้ 1 อาทิตย์ เพราะว่าโดนเตะขา หรือว่ามีแผลแตกต้องพักรักษาตัวนาน 

 

“แมตช์แรกในชีวิตแพ้คะแนน ทุกครั้งที่แพ้เราจะเสียใจร้องไห้ เพราะทุกอย่างผมใส่ใจ 100% แพ้ก็เศร้า พอได้พักก็ลุกขึ้นมาเอาใหม่ ผมเป็นมวยบู๊ ถนัดใช้หมัด แต่โง่ ชอบบุก กว่า 30 แมตช์ชนะมากกว่าแพ้ ศิลปะป้องกันตัวคุณอาจจะคิดว่าสู้กับคนอื่น แต่ความจริงต้องสู้ตัวเองก่อน ก่อนขึ้นเวทีหลายครั้ง รู้สึกกลัว ไม่มีความมั่นใจ แต่พอขึ้นเวทีต้องใจนิ่ง มวยเป็นกีฬาที่ต้องสู้กับตัวเองมากมาย”

 

เจ้าของค่ายมวยที่สิงคโปร์ย้ำว่า ที่สุดจากความชื่นชอบ กีฬาที่ใช้ยังชีพหากินตอนอดอยาก กลายเป็นธุรกิจมูลค่ามหาศาลล่าสุดที่เขาตั้งใจทำขึ้นมา ..ยังมีต่อ>>

 

รู้จักคนไทยผู้สร้าง ONE Championship กระหึมโลก2..??

 

@ credit- news-  clip  :: www.thairath.co.th

เชิญแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ

comments